จำรัส เศวตาภรณ์ นักดนตรีแลนักประพันธ์เพลง เกิดเมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ.2498 (9 Dec 1955) เป็นชาวฝั่งธนโดยกำเนิด บิดา มารดา เป็นชาวจีนอพยพ บิดาชื่อ นายหยิบ แซ่อึ้ง มารดาชื่อ นางไล่ห่าง แซ่ฉั่น เข้ามาตั้งรกราก ก่อนที่นายจำรัสจะเกิด 20-30ปี บิดาเป็นวิศวกรที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในยุคนั้น แต่เนื่องจากความเป็นช่างที่มีความฝัน ไม่ค่อยชอบทำงานตามแนวตลาด ครอบครัวของเขาจึงไม่ค่อยมีรายได้มากนัก และอุปนิสัยความเป็นคนช่างคิดช่างฝันนี้ได้ติดตัว ดช.จำรัส มาตั้งแต่เกิด บิดาได้พยายามจะสอนให้เขาเป็นช่าง เป็นวิศวกร เหมือนกับพี่ชายอีก 3 คนของเขา แต่ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งเดียวที่ยากยิ่งในการถ่ายทอดสู่ลูกคนนี้
จำรัส เกิดที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆวัดประยูรวงศาวาส เป็นแหล่งร้านค้าของชาวจีนที่เป็นญาติๆกันในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นร้านอาหารของชาวกวางตุ้ง (บิดามารดาเป็นชาวกวางตุ้ง Cantanese) การได้อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ดช.จำรัส ได้ซึมซับเอาบรรยากาศความงดงามของชีวิตและปรัชญาแห่งสายน้ำนี้มาตั้งแต่เด็ก เขาเติบโตมากับสายน้ำนี้ ได้เดินข้ามสะพานพุทธที่ทอดข้ามลำน้ำเชื่อมความสันโดษของฝั่งธนบุรีและความศิวิไลซ์จากฝั่งพระนคร นอกจากนั้นจากการที่มีแหล่งพำนักอยู่ใกล้กับวัดประยูรฯ เขาได้รับรู้ถึงปรัชญาแห่งชีวิต การเกิด แก่ เจ็บ ตาย จากการที่ได้พบกับความเศร้าโศกเสียใจของผู้คนกับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักอยู่แทบทุกวัน จนวันหนึ่งก็มาถึงญาติสนิท และก็มาถึงบิดาของเขาเอง
แม้ฐานะการเงินของครอบครัวจะไม่ค่อยราบรื่นนักแต่จำรัสก็ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดในยุคนั้นจนจบชั้นอุดมศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ในขณะที่เรียนอยู่ จำรัสก็ได้ทำงานด้วยการเป็นนักดนตรี ร้องเพลงตามห้องอาหารบ้าง ไนท์คลับบ้างอยู่เกือบ 10 ปี แทบไม่น่าเชื่อที่เขาไม่เคยได้รับการศึกษาทางด้านดนตรีอย่างจริงๆจังๆเลย มุมมองและจินตนาการต่างๆในการสร้างผลงานเพลงของเขาล้วนเกิดมาจากประสพการณ์ในการเล่นดนตรีและจิดวิญญานที่ได้จากสายน้ำ และการเวียนว่ายของชีวิตที่เขาได้พบเห็นมาตั้งแต่เด็ก
จำรัส เศวตาภรณ์ ได้แต่งเพลงไว้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ มีภาพยนตร์ไทยนับ 100 กว่าเรื่อง เพลงเกือบ 1000 เพลงที่เขาเป็นผู้แต่ง เสียดายที่เพลงจำนวนมากมิได้มีต้นฉบับที่สมบูรณ์เก็บไว้ เขาได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลในประเทศและต่างประเทศ (รางวัลต่างประเทศ Best Music ASIA PACIFIC FILM FESTIVAL 1987 ที่ประเทศไต้หวัน )
"แต่รางวัลและรายได้จากการทำงานก็มิใช่จุดมุ่งหมายของนักดนตรี" จำรัสเคยกล่าวไว้เสมอ เขาอยากทำดนตรีที่จะเป็นสมบัติของโลกและจักรวาล "เมื่อ ผมได้ตายไป และถ้ามีโอกาสได้เกิดใหม่ผมอยากจะกลับมาฟังเพลงของผมอีก" เขาเคยกล่าวเสริม "ไม่มีสิ่งใดในโลกที่เป็นของเรา แม้แต่ตัวเรา หรือกระทั่งสิ่งที่เราได้สร้างขึ้น ..ทุกคนมีหน้าที่ มันยิ่งกว่าหน้าที่ มันคือภาระ ที่จะทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" จำรัส ได้ประพันธ์เพลงเพื่อศาสนาหลายต่อหลายเพลง ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และเป็นสิ่งที่จุดประกาย สะกิดไฟที่ซ่อนไว้ในจิตของเขามานาน
เขาได้สร้างผลงานเพลง Healing….Meditation … Relaxing หลายต่อหลายชุดที่ท่านได้เห็นนี้ เช่น
|
ชุดที่1 เช้าวันใหม่ Morning ได้กล่าวถึงความงดงามของยามเช้า ว่าชีวิตเกิดใหม่ได้ทุกวัน ตราบที่เรายังมีลมหายใจ และความฝันของเรายังไม่เหือดหาย |
|
ชุดที่2 ฤดูกาลแห่งชีวิต Season of life กล่าวถึงชีวิตเปรียบเสมือนมี3ฤดู(ในไทยมี3ฤดู) ฤดูฝน ฤดูร้อน ฤดูหนาว ยามเด็กเราคือฤดูฝน ที่เจริญเติบโต เบ่งบาน ดั่งต้นกล้าน้อยๆได้รับฝนหล่อเลี้ยง ชีวิตเหมือนมีแต่ความสดชื่น แต่ยามหนุ่มสาวของเราคือฤดูร้อน ต้นไม้ใดที่ไม่แข็งแรงพอก็จะต้องเฉาตาย ชีวิตต้องมีแต่การต่อสู้ค้นหา ดั่งรากแก้วที่ต้องไชชอนหาแหล่งอาหารและแหล่งน้ำใต้พื้นดินแห้งผาก และฤดูหนาวก็เปรียบเหมือนบั้นปลายแห่งชีวิต ที่สั่งสมประสพการณ์ที่ได้เรียนรู้มายาวนาน ขาดแต่กำลังวังชาที่ร่อยหรอ ได้แต่ปลิดใบทิ้งเมล็ดพันธ์ให้แก่ผืนดิน |
|
ชุดที่3 เสียงเพรียกจากสายลม Whisper of the wind ชุดนี้ให้บรรยากาศแห่งการจินตนาการ ขุนเขา ความรัก การรอคอย และแสวงหา เพลงส่วนใหญ่มาจากดนตรีที่เขาเคยแต่งไว้ให้กับภาพยนตร์ต่างๆ |
|
ชุดที่4 เพลงใบไม้ Song of leaf ชุดนี้ได้กล่าวถึงชนบทของเมืองไทยในรูปแบบของการบรรเลงเปียโน เพลงในชุดนี้ส่วนใหญ่แต่งเสร็จใน1วัน เมื่อเขาได้ขึ้นไปพักบนภูเขาแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย |
|
ชุดที่5 บทเพลงแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา Music of the Chaophraya river เพลงชุดนี้จัดเป็นชุดที่ให้บรรยากาศเมืองไทยในอดีตได้อย่างดีชุดหนึ่ง หน้าปกเป็นภาพเขียนบรรยายถึงเมืองไทยต้นรัตนโกสินทร์ (เมื่อประมาณ200ปีมาแล้ว) บรรเลงโดยเครื่องดนตรีไทยเดิม บรรยากาศต่างๆได้สะท้อนสิ่งที่สะสมมาในตัวจำรัสตั้งแต่เด็กอย่างชัดเจน |
|
ชุดที่ 6 เปียโนในสวน Piano in the garden เป็นเพลงบรรเลงโดยเปียโน เป็นบรรยากาศในสวน ผสมเสียงนกร้อง เป็นดนตรีในลักษณะ Relaxation กล่าวถึงสิ่งต่างๆที่พบเห็นในสวน เช่นผีเสื้อกับดอกไม้ แมลงปอ นกกางเขน สะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นอายเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นอนุบาลและประถม โรงเรียนของจำรัสอยู่ลึกเข้าไปในสวน ความทรงจำต่างๆที่เคยเดินเล่นตามทุ่งหญ้า ท่ามกลางหมู่ไม้นานาพรรณได้ปรากฏชัดเจนในอัลบั้มนี้ |
|
ชุดที่ 7 เนรัญชรา The Naerunchara river เพลงชุดนี้บรรยายถึงสายน้ำเนรัญชรา สายน้ำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ จำรัส เศวตาภรณ์ สนใจในพุทธศาสนา เพราะเขามีจิตวิญญานที่สัมผัสกับความฝันแห่งแดนไกลอยู่เสมอๆ มีครั้งหนึ่งในหลายๆครั้งที่เขาได้พิสูจน์กับตัวเองว่าสิ่งที่เขาพบนั้นเป็นมิติที่อยู่เหนือการสัมผัสปรกติ ครั้งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเพื่อนสนิทของเขาได้เสียชีวิต ในขณะที่เสียชีวิตเพื่อนของเขาได้มาร่ำลาในขณะที่เขาเหมือนครื่งหลับครึ่งตื่น ด้วยความสงสัยว่านั่นคือความฝันธรรมดาๆหรือเป็นความจริงในมิติเร้นลับ ในความฝันเขาได้ใช้มือสัมผัสกับกำแพงที่อยู่รอบตัว และนับรอยตะปุ่มตะป่ำและท่องไว้ในใจ พอเขาตื่นขึ้นมาเขาไปที่กำแพงนั้น ซึ่งอยู่ห่างจากที่เขานอนประมาณ 5 เมตรและก็ได้พบกับรอยตะปุ่มตะป่ำเช่นเดียวกัน |
|
ชุดที่ 8 นิพพาน Nirvana เพลงชุดนี้บรรยายถึง การเดินทางของใจที่เที่ยงแท้ ในวัฏสงสารอันกว้างใหญ่ การเดินทางไกลของดวงจิตในห้วงเวลาแห่งอนันตกาล ลมหายใจแรกของชีวิต ประกาศกล้าศักดาการแสวงหา ตราบลมหายใจสุดท้ายประกาศชัยชนะสู่มาตุภูมิ ณ ที่เริ่มต้นจวบจนถึงอมตะนทีธรรม วิถีธารแห่งชีวิตน้อยใหญ่สถิตนิ่ง ณ ศูนย์กลางดวงฤทัย หมื่นแสนภพชาติ เติมเต็มมหาสมุทรแห่งบารมีธรรม |
|
ชุดที่ 9 "เพลงที่บรรเลงอยู่ท่ามกลาง เสียงสายธารไหลเรื่อย ดื่มด่ำกับความสุข อันได้รับกับความสงบ" |
|
ชุดที่ 10 "ดนตรีไทยผสมผสาน โดยมีสุข ขิมเป็นเครื่องนำ บอกกล่าวความงดงามของวัฒนธรรมไทย" |
|
ชุดที่ 11 "บทเพลงใสๆ บรรเลงด้วยไซโลโฟน (Xylophone) และเปียโน เหมาะสำหรับคุณแม่ คุณลูก และการสร้างบรรยากาศอันอ่อนโยนสำหรับทุก ๆท่าน" |
|
ชุดที่ 12 "ดนตรีผสมผสานสายน้ำ ความยาว 72 นาที เป็นการนำเพลงในลำดับที่ 5 ของอัลบั้มฤดูกาลแห่งชีวิตมาร้อยต่อ เป็นภาคจบ และ บทสรุปอันสมบูรณ์ของเพลงเจ้าพระยา" |
|
ชุดที่ 13 "เสียงเปียโนผสมเสียงคลื่นดนตรีแผ่วเบา เสมือนนั่งฟังดนตรีอยู่ริมหาด" |
เขายังพยายามสร้างเพลงใหม่ๆอยู่เสมอในทุกวันนี้ "ชีวิตแห่งการเป็นนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงของผมไม่ต้องการอะไร" เขากล่าวกับเพื่อนสนิท "ชื่อเสียง.. คำสรรเสริญ.. ผมต้องการเพียงที่นอนสบายๆริมหน้าต่างฟังเสียงฝนตกและละอองน้ำเย็นฉ่ำที่มาสัมผัส ผมยังจำได้เสมอ ตอนเด็กๆผมได้นอนที่ม้าไม้ยาวริมหน้าต่างชั้นสองเสมอ โดยเฉพาะเวลาฝนตก" บิดาของเขาได้เดินมาถาม "อากิมใจ๋ (ชื่อของเขาในสมัยเด็ก) ทำไมไม่ไปนอนข้างในเดี๋ยวไม่สบาย" "ไม่เป็นไรปะป๊า ขอนอนตรงนี้สบายดี" บิดาของเขาก็ไม่ว่าอะไร แต่นั่นเป็นการทักทายไม่นานก่อนที่บิดาของเขาจะเสียชีวิตจากการทำงานหนัก เขายังกล่าวอีกว่า "เพลงที่ดีที่สุดของผมยังมาไม่ถึง และเวลาของผมก็เหลือน้อยลงทุกที" จำรัสไม่ได้รับงานดนตรีอื่นๆ รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เขาเคยประสพความสำเร็จอย่างสูงรวมทั้งไม่เคยรับสร้างงานเพลงให้นักร้องสังกัดค่ายเพลงต่างๆในเมืองไทย "ระบบธุรกิจเพลงได้ทำลายความฝันของศิลปิน และนักดนตรี รวมทั้งได้ทำลายบรรยากาศที่จะสะท้อนความเป็นตัวตนที่แท้จริงของปัจเจกชน" เขาได้กล่าวเสริมท้าย ก่อนที่จะขอตัวไปทำงานต่อๆไป
ประวัติส่วนตัว |
ชื่อ นายจำรัส นามสกุล เศวตาภรณ์ |
วัน เดือน ปีเกิด 9 ธันวาคม 2498 |
เป็นชาวฝั่งธนบุรี ตอนเด็กๆอาศัยอยู่ละแวก ตรอกพญาไม้ เชิงสะพานพุทธ ใกล้ๆวัดประยูรวงศาวาส |
เรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนดรุณวิทย์วิทยา อยู่แถวๆ สำเหร่ ซอยศาลเจ้าแซ่ซิ้ม (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) |
เรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร |
เข้ารับการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯปีการศึกษา 2517 |
รางวัลที่ได้รับจากอดีตถึงปัจจุบัน |
- พ.ศ.2529 รางวัลพระราชทานดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "น้ำเซาะทราย" |
- พ.ศ.2530 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "นางนวล" |
- พ.ศ.2530 รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเอเซียแปซิฟิก(ไต้หวัน) "นางนวล" |
- พ.ศ.2533 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "ปุกปุย" |
- พ.ศ.2533 รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง "ปุกปุย" |
- พ.ศ.2534 รางวัลพระราชทานเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "เพียงเรามีเรา" |
- พ.ศ.2535 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "ฝากฝันไว้เดี๋ยวค่อยเลี้ยวมาเอา" |
- พ.ศ.2536 รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมชมรมวิจารณ์บันเทิง "ปีหนึ่งเพื่อนกัน กับวันอัศจรรย์ของผม" |
- พ.ศ.2536 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "ณ สุดขอบฟ้า" |
- พ.ศ.2537 รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมชมรมวิจารณ์บันเทิง "อำแดงเหมือนกับนายริด" |
- พ.ศ.2539 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ "คู่กรรม 2" |
- พ.ศ.2540 รางวัลพระราชทานดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี "ฝันติดไฟหัวใจติดดิน" |
ส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ |
- เป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาภาพยนตร์คณะนิเทศน์ศาสตร์จุฬาฯสอนวิชา ดนตรีประกอบภาพยนตร์" ปีการศึกษา 2538-2541 |
- เป็นอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตย์ เท็คโนโลยี่พระจอมเกล้าลาดกระบังสอนวิชา "ดนตรีประกอบภาพยนตร์" ปีการศึกษา 2540 |
- เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยหลายครั้ง |
- ประพันธ์เพลงสำหรับการส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กับวัดและสถาบันสงฆ์ |
- นิสิตเก่าตัวอย่าง เศรษฐศาสตร์ รุ่น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2543 |
ประวัติการเล่นดนตรี |
- หัดเล่นดนตรีครั้งแรกกับพี่ชาย ตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่6 |
- จนเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆเล่นตามสถานที่ต่างๆ |
- เล่นดนตรีเป็นอาชีพเมื่อครั้งเรียนมศ.5 (ม.6ปัจจุบัน) อายุ 18 ปี |
- เข้าศึกษาต่อ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2517 |
- ขณะเรียนอยู่ปี 3 ก็เข้าเล่นดนตรีกับวงดนตรี แกรนด์เอกซ์ เล่นอยู่ 4 ปี (2519 – 2523) |
- หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนเพลง และ ตั้งวงดนตรี เดอะเรดิโอ |
- ออกอัลบั้มชุดแรก 2525 “นกเจ้าโผบิน" |
- ชุดที่สอง 2526 “หยาดฝน" |
- ชุดที่สาม 2527 “บทเพลงและความฝัน" |
- หลังจากนั้นก็เลิกวง เดอะเรดิโอ มาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ไทย ปี 2529-2540 รวมมากกว่า 100 เรื่อง |
- ประมาณปี 2536 เริ่มทำเพลงบรรเลง ในลักษณะ RELAXATION , HEALING , MEDITATION , REIKI , SLEEP THERAPY โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการชอบฟังเพลงบรรเลงมาตั้งแต่เด็ก และมีประสพการณ์ทำงาน Film background music ตลอดจนสนใจในเรื่อง สมาธิ และ ความเป็นไปของจิต. |
รายชื่อภาพยนตร์ที่เคยทำมาทั้งหมด (ตามลำดับผู้สร้างภาพยนตร์.. เท่าที่จำได้ครับ) |
- มานพ อุดมเดช หย่าเพราะมีชู้, กระโหลกบางตายช้ากระโหลกหนาตายก่อน, ครั้งเดียวก็เกินพอ |
- ชนะ คราประยูร ขบวนการคนใช้, กว่าจะรู้เดียงสา, ไอ้คุณผี, เทวดาตกสวรรค์, เหยื่อ |
- คมสัน พงษ์สุธรรม หัวใจเดียวกัน, รัก-ใคร่, พี่เลี้ยง |
- ประยูร วงษ์ชื่น เพื่อนซื่อพาก๊อง, แชะ แชะ แชะ |
- เปี๊ยก โปสเตอร์ เกมส์มหาโชค, บินแหลก |
- เชิด ทรงศรี พลอยทะเล, ทวิภพ, เรือนมยุรา, อำแดงเหมือนกับนายริด, ข้างหลังภาพ |
- พรพจน์ หยุดโลกเพื่อเธอ, หยุดไม่ได้ถ้าหัวใจอยากซิ่ง, ฝากฝันไว้เดี๋ยวค่อยเลี้ยวมาเอา |
- รุจน์ รนภพ บันทึกจากลูกผู้ชาย, คู่กรรม |
- บรรจง โกศัลวัฒน์ ซีอุย, คู่กรรม2 |
- ธนิตย์ จิตนุกูล สยึ๋มกื๋ยย์ |
- ณรงค์ จารุจินดา สมศรี422R, ม.6/2ห้องครูวารี, เพื่อนกันวันหยุด |
- อุดม อุดมโรจน์ ปุกปุย |
- ภาพยนตร์ของอาร์เอสฟิลม์ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว, แตกสี่, ฝันติดไฟหัวใจติดดิน |
- คิงส์ ปีหนึ่งเพื่อนกันกับวันอัศจรรย์ของผม |
- มล.พันเทวนพ เทวกุล ฉันผู้ชายนะยะ, นางนวล |
|